ประวัติ มอญแห่งลุ่มน้ำแม่กลอง
“แม่น้ำแม่กลอง”มีต้นกำเนิดจากเทือกเขาถนนธงชัย-ตะนาวศรี ลำน้ำเก่าแก่ที่สำคัญต่อการตั้งหลักแหล่งและทำมาหากินของผู้คน เกิดจากการรวมกันของแควสองสายได้แก่ แควใหญ่และแควน้อย แควทั้งสองไหลรวมกันเป็นแม่น้ำแม่กลองที่ตำบลปากแพรก อ.เมือง จ.กาญจนบุรี ไหลผ่านอำเภอต่างๆ ไปยัง จ. ราชบุรี และเข้าสู่เขต จ.สมุทรสงคราม ก่อนไหลลงสู่ทะเลอ่าวไทย
ในสมัยก่อนกลุ่มคนที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในลุ่มน้ำแม่กลองตอนบนตั้งแต่ช่วงกรุงศรีอยุธยาตอนปลายมาจนถึงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ของไทยได้แก่ชาวมอญและชาวกะเหรี่ยง ได้อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานหลายระลอกเรื่อยมานับตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ธนบุรีและต้นกรุงรัตนโกสินทร์และยังกระจายตัวไปทั่วประเทศไทย ชาวมอญเหล่านี้ล้วนเป็นผู้เคร่งครัดในพุทธศาสนาจึงได้พากันสร้างวัดใหญ่น้อยขึ้น
การผสมผสานทางวัฒนธรรมระหว่างไทยและมอญปรากฏชัดว่า “ความเป็นไทย” เช่นทุกวันนี้ส่วนหนึ่งมีวัฒนธรรมมอญเป็นพื้นฐาน ทั้งนาฏศิลป์และการดนตรีที่มีครูเป็นมอญมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา อาหารการกินบางส่วนก็ได้รับมาจากชาวมอญ
“กลอง” ในภาษามอญ หมายถึง “หนทางที่ใช้ในการคมนาคม” “แม่น้ำแม่กลอง” จึงมีหมายถึงเส้นทางที่ใช้ไปมาหาสู่กัน ทั้งการค้าขายและเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์ในการสงครามแต่ที่สำคัญที่สุด “แม่กลอง” ได้ทำหน้าที่เป็นเส้นทางของการสั่งสมและผสมผสานอารยะธรรมอันหลากหลายหล่อหลอมเข้าด้วยกันอย่างกลมกลืนจนกลายเป็นวัฒนธรรมไทยในปัจจุบัน
ขอบคุณที่มาจาก ส่วนอาเซียน กรมประชาสัมพันธ์