หากใครเคยชมภาพยนตร์ไทยเรื่อง โหมโรง จะต้องคุ้นเคยกับนักระนาดเอกผู้เป็นครูดนตรีไทยที่มีความสามารถในการเล่นดนตรีไทยได้อย่างไพเราะ และเป็นที่นับถืออย่างมากท่านหนึ่ง เขาคือบุคคลสำคัญทางประวัติศาสตร์ของชาวอัมพวา ศร ศิลปบรรเลง
ศร ศิลปบรรเลง เกิดเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2424 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ตำบลดาวดึงส์ อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม เป็นบุตรของ นายสิน และนางยิ้ม ศิลปบรรเลง ซึ่งบิดาของท่านเป็นเจ้าของวงปี่พาทย์ ศรสามารถตีฆ้องวงใหญ่ได้ตั้งแต่เด็ก และเริ่มเรียนปี่พาทย์ตั้งแต่อายุ 11 ปีโดยมีบิดาเป็นผู้ถ่ายทอดวิชา จนมีชื่อเสียงไปทั่วลุ่มน้ำแม่กลอง
กระทั่งอายุ 19 ปี สมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ทรงรับตัวเข้ามาไว้ที่วังบูรพาภิรมย์ ทำหน้าที่เป็นคนระนาดเอกประจำวง และได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น “หลวงประดิษฐไพเราะ” ถวายงานเรื่อยมาจนได้มีโอกาสถวายการสอนดนตรีให้กับพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี และถึงแก่กรรมเมื่อปี พ.ศ. 2479 รวมอายุ 73 ปี
ผลงานการแต่งเพลงของหลวงประดิษฐไพเราะมีอยู่มากมาย เช่น “โหมโรงปฐมดุสิต” “โหมโรงประชุมเทวราช” “โหมโรงนางเยื้อง” “โหมโรงกระแตไต่ไม้” “แมลงภู่ทองเถา” “ช้างกินใบไผ่เถา” “ชมแสงจันทร์เถา” รวมทั้งมีส่วนช่วยงานพระราชนิพนธ์เพลง คือ เพลง “ราตรีประดับดาวเถา” “เขมรละออองค์เถา” และ “โหมโรงคลื่นกระทบฝั่ง” ท่านจึงเป็นบุคคลสำคัญอย่างมากของจังหวัดสมุทรสงคราม และเป็นที่นับถือของเหล่าคนดนตรีไทยอย่างกว้างขวาง
ขอขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก ทำเนียบศิลปิน ท้องถิ่นอัมพวา และ www.manager.co.th/